วันพุธที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ของเล่นสำหรับเด็กปฐมวัย

แนวทางการจัดกิจกรรมการเล่นสำหรับเด็กปฐมวัย

การเล่นเป็นธรรมชาติของเด็กทุกคน นอกจากจะทำให้เด็กได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลิน ประโยชน์ที่แฝงมากับการเล่นที่สำคัญ คือ เด็กได้เรียนรู้ด้วยตนเอง โลกและชีวิต ตลอดจนเป็นการส่งเสริมพัฒนาการทุกๆ ด้านของเด็กทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา รวมทั้งนำไปสู่การปลูกฝังค่านิยม วัฒนธรรม และทัศนคติ ที่มีอิทธิพลต่อการสร้างลักษณะนิสัยและบุคลิกภาพของเด็กในวัยต่อๆ มาด้วย

ลักษณะพฤติกรรมการเล่นของเด็กปฐมวัย
เด็ก แต่ละวัยจะมีการเล่นที่แตกต่างกันไปตามระดับพัฒนาการและประสบการณ์ที่เด็ก ได้รับจากสภาพแวดล้อม พฤติกรรมการเล่นของเด็กมีการพัฒนาไปตามลำดับขั้นตอนอย่างต่อเนื่องตามวุฒิ ภาวะและความพร้อมทั้งทางร่างกาย อารมณ์ - จิตใจ สังคม และสติปัญญาของเด็ก รวมทั้งการเล่นแบบง่ายๆ เพียงลำพังคนเดียวไปสู่การเล่นที่ซับซ้อนมากขึ้นและรู้จักเล่นร่วมกับผู้ อื่นมากขึ้น ดังนี้

พฤติกรรมการเล่นของเด็กวัย 0 - 1 ปี เด็กวัยนี้ในช่วงแรกเกิด - 3 เดือน จะยังไม่สนใจกับการเล่นมากนัก แต่เด็กจะเริ่มพัฒนาประสาทสัมผัสการมองเห็นและได้ยิน การแขวนของเล่นที่สดใสที่แกว่งไกวแล้วมีเสียงกรุ๋งกริ๋งช่วยให้เด็กกรอกสาย ตา ฝึกการมองเห็นและการฟังได้สังเกตความเคลื่อนไหว เมื่อเด็กสามารถบังคับใช้กล้ามเนื้อในการเคลื่อนแขน - ขา - มือ เด็กจะชอบคว้าจับและสนใจต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ของเล่นที่เด็กชอบ คือ ของที่ถือได้มีสีสดใสและมีเสียง เด็กจะชอบเอาของเล่นเข้าปาก จึงต้องระมัดระวังเรื่องของความปลอดภัย จนเมื่อเด็กเริ่มนั่งได้และหยิบจับด้วยนิ้วได้คล่องขึ้น เด็กจะชอบหยิบจับผลักของเล่นไปมา และสนใจค้นหา สิ่งที่ปิดซ่อน ควรเปิดโอกาสให้เด็กได้ใช้มือและเข่าคลานค้นหาสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง นอกจากนี้เด็กจะชอบฟังเสียงของคำและจังหวะกระแทกๆ ของการเน้นคำด้วยเสียงต่ำ การเล่นร้องบทกลอนง่ายๆ ล้อเลียนเด็กพร้อมกับการแสดงสีหน้าท่าทางด้วยจะทำให้เด็กรู้จักเลียนเสียง ที่ฟังสนุกกับการฟังเสียงของคำสัมผัสและจำคำง่ายๆ ได้ในเวลาต่อมา

พฤติกรรมการเล่นของเด็กวัย 1 - 2 ปี เด็กวัยนี้เริ่มเดินได้เองบ้าง แม้จะไม่มั่นคงนัก แต่ก็ชอบเกาะเครื่องเรือนเดินจากที่หนึ่งไปยังอีกทีหนึ่ง ทำให้ได้เรียนรู้ถึงระยะทาง และฝึกการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้องต่างๆ ของเล่นควรเป็นกล่องกระดาษมีเชือกร้อยต่อกัน เด็กจะสนุกกับสิ่งใหม่ๆ ที่พบเห็น ชอบปีนป่ายขึ้นบันได มุดใต้โต๊ะ เป็นการฝึกทักษะการเคลื่อนไหวซึ่งยังต้องการช่วยดูแลความปลอดภัยจากผู้ใหญ่ นอกจากนี้ เด็กชอบเล่นน้ำ เล่นทราย เป็นการพัฒนาความรู้สึกในการสัมผัส และฝึกการใช้กล้ามเนื้อ นิ้วมือ มือ แขน การหาของเล่นอ่อนนุ่มหรือทำด้วยพลาสติกที่ปลอดภัยในเด็กได้ถือจับและโยนเล่น จะช่วยฝึกกล้ามเนื้อเด็กได้ดี

พฤติกรรการเล่นของเด็กวัย 2 - 4 ปี เด็กวัยนี้อยากรู้อยากเห็นทุกสิ่งทุกอย่าง เด็กเคลื่อนไหวได้คล่องขึ้น และทรงตัวได้ดี เพราะกล้ามเนื้อแขนขาแข็งแรงมากขึ้น ทำให้ชอบเล่นที่ออกแรงมากๆ ไม่ว่าจะเป็นวิ่งเล่น กระโดด ปีนป่าย ม้วนกลิ้ง เตะ ขว้างลูกบอล และขี่จักรยานสามล้อ เป็นการฝึกกล้ามเนื้อใหญ่ให้แข็งแรงและเคลื่อนไหว กระฉับกระเฉงขึ้น สำหรับกล้ามเนื้อเล็กมีการควบคุมได้ดีขึ้น เด็กสามารถเล่นของเล่นที่ใช้นิ้วมือหยิบจับหรือหมุนได้ ประเภทภาพตัดต่อ ภาพต่อปลาย ไม้บล๊อกหยอดกล่องรูปทรงกระดานหมุดฆ้อนตอก เด็กจะชอบเล่นอิสระและเลียนแบบท่าทางของคนและสัตว์ การเล่นบทบาทสมมติจำลองสถานการณ์ต่างๆ ด้วยของเล่นที่เหมือนของจริงช่วยสร้างเสริมจินตนาการให้กับเด็กได้ แสดงออกอย่างสร้างสรรค์ นอกจากนี้เด็กสนใจฟังนิทาน เรื่องเล่า และดูหนังสือภาพ ชอบแสดงท่าทางประกอบเรื่องราวต่างๆ และเคลื่อนไหวตามจังหวะเสียงเพลง ในช่วงวัยนี้เด็กเริ่มเล่นกับเด็กอื่นมากขึ้นและทำงานเป็นกลุ่มได้

พฤติกรรมการเล่นของเด็กวัย 4 - 6 ปี เด็กวัยนี้มีความพร้อมในด้านต่างๆ มากขึ้น มีการเคลื่อนไหวของร่างกายคล่องแคล่วขึ้น ชอบเล่นกลางแจ้งกับเครื่องเล่นสนาม และเครื่องเล่นที่มีลูกล้อขับขี่ได้ สามารถเล่นของเล่นที่ใช้มือจับได้ดีขึ้น เด็กพอใจจะเล่นกับเพื่อนเป็นกลุ่มมากขึ้น ชอบเลียนแบบชีวิตในบ้านและสังคมแวดล้อม โดยการแสดงบทบาทสมมติเป็นเรื่องราวมากขึ้น และมีการกำกับบทบาทของเพื่อนเล่น ชอบฟังนิทาน โคลงกลอน ปริศนาทายคำ ช่างซักถามและตั้งคำถามกับสิ่งต่างๆ ที่พบเห็นในเชิงเหตุผล ชอบทดสอบทดลองด้วยตนเอง สนใจตัวหนังสือและเขียนชื่อตัวเอง เขียนตัวเลขได้ และรู้จักนับ รู้จักเปรียบเทียบ ทำให้สามารถเล่นจำแนกสิ่งต่างๆ ได้ ชอบวาดภาพระบายสี ประดิษฐ์สิ่งต่างๆ ตลอดจนสามารถเล่นเกมที่มีกติกาง่ายๆ ได้

การจัดกิจกรรมการเล่นที่เหมาะสมกับเด็กปฐมวัย
กิจกรรมการเล่นและของเล่นที่จัดให้เด็กปฐมวัย ควรส่งเสริมพัฒนาการทุกด้านของเด็ก โดยเปิดโอกาสให้เด็กได้เลือกเล่นอย่างเสรีตามความต้องการและความสนใจของเด็ก โดยเปิดโอกาสให้เด็กได้เลือกเล่นอย่างเสรีตามความต้องการและความสนใจของเด็ก ตลอดจนมีการจัดสภาพแวดล้อมสำหรับการเล่นที่เหมาะสมกับลักษณะพฤติกรรมการเล่น และความสามารถตามวัยของเด็ก โดยจัดให้มีบริเวณที่เล่นที่กว้างขวางและปลอดภัย รวมทั้งมีการสนับสนุนการเล่นโดยการสังเกต หรือเข้าไปมีส่วนร่วมเสนอแนวคิดที่เป็นประโยชน์ต่อการเล่นของเด็ก และจัดหาอุปกรณ์ของเล่นที่เหมาะสม ดังนี้

กิจกรรมการเล่นของเล่นสำหรับเด็กวัย 0 - 1 ปี เด็กวัยนี้จะเรียนรู้จากการกระตุ้นประสาทสัมผัสให้เกิดการรับรู้และตอบสนอง สิ่งเร้ารอบตัวจากผู้อยู่ใกล้ชิดที่คอยดูแลสัมผัส โอบอุ้ม พูดคุย หยอกล้อเล่น และชี้ชวนให้ดูสิ่งต่างๆ รอบตัว กิจกรรมการเล่นที่ควรจัดให้ เป็นการเล่นหยอกล้อเด็กด้วยคำคล้องจอง มีการแสดงสีหน้าท่าทางและใช้เสียงสูงๆ ต่ำๆ ให้เด็กสนใจ เช่น การเล่นปูไต่ การเล่นจ๊ะเอ๋ การเล่นจับปูดำ การเล่นซ่อนหาของ เป็นต้น ของเล่นสำหรับเด็กวัยนี้ ได้แก่ โมบายตะเพียน ของเล่นเขย่าหรือบีบให้เกิดเสียง ตุ๊กตาผ้ารูปสัตว์ ลูกบอลผ้า เป็นต้น

กิจกรรมการเล่นและของเล่นสำหรับเด็ก 1 - 2 ปี เด็กวัยนี้จะเรียนรู้จากการใช้ประสาทสัมผัสในการรับรู้ และมีการกระทำซ้ำๆ แบบลองผิดลองถูกกับส่วนต่างๆ ของร่างกาย กิจกรรมการเล่นที่ควรจัดให้การเล่นสำรวจที่ใช้ประสาทสัมผัส และการเคลื่อนไหวอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เช่น การให้เด็กบริหารแขนขา การเล่นดิน - ทราย - น้ำ การหยิบของตามคำบอก การเล่นขว้างปา หรือตอกของเล่นที่ไม่แตกหัก การขีดเขียนลากเส้นไปมาเป็นต้น ของเล่นสำหรับเด็กวัยนี้ ได้แก่ ของเล่นที่ลากจูงได้ ลูกปัดสีขนาดใหญ่และเชือกร้อย ลูกบอล กล่องกระดาษขนาดต่างๆ ภาพตัดต่อง่ายๆ ตุ๊กตาที่ทำจากวัสดุนุ่ม กระดานหมุดฆ้อนตอก ของเล่นไขลาน ของเล่นที่ใช้ตักตวง น้ำ - ทราย และหนังสือรูปภาพต่างๆ

กิจกรรมการเล่นและของเล่นสำหรับเด็กวัย 2 - 4 ปี เด็กวัยนี้จะเรียนรู้จากการสังเกต เลียนแบบและซักถามทำความรู้จักกับสิ่งต่างๆ รอบตัวจากผู้ใหญ่ เพื่อเป็นพื้นฐานความรู้ความเข้าใจในการสื่อความหมายกับผู้อื่น กิจกรรมการเล่นที่ควรจัดให้เป็นการเล่นสร้างสรรค์ที่ให้เด็กใช้จินตนาการและ ความคิดสร้างสรรค์ ออกมาเป็นการแสดงบทบาทสมมุติ หรือผลงานทางศิลปะ เช่น การเล่นเป็นพ่อแม่ การเล่นขายของ การเล่นเป็นตัวละครในการ์ตูน การเล่นสร้างงานศิลปะ เป็นต้น ของเล่นสำหรับเด็กวัยนี้ ได้แก่ ของเล่นเลียนแบบของจริง ภาพตัดต่อ ดินน้ำมัน อุปกรณ์ศิลปะ ของใช้ในบ้านจำลองพลาสติกสร้างสรรค์ ไม้บล๊อก และหนังสือนิทาน

กิจกรรมการเล่นและของเล่นสำหรับเด็กวัย 4 - 6 ปี เด็กวัยนี้จะเรียนรู้จากการใช้ภาษาสื่อความหมายความเข้าใจกับผู้อื่น และการใช้เหตุผลในการทำความเข้าใจกับสิ่งต่างๆ กิจกรรมการเล่นที่ควรจัดให้เป็นการเล่นที่เด็กสามารถสะท้อนความคิด ความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งที่เด็กเรียนรู้ เช่น การวาดภาพและเล่าเรื่องราว การแสดงบทบาทสมมติ การเล่นที่ใช้ทักษะการสังเกต เปรียบเทียบสิ่งต่างๆ การเล่นเกมง่ายๆ เป็นกลุ่ม การแต่งเรื่งอและเล่นบทบาทสมมติ การเล่นสร้างงานศิลปะ และการเล่นเกมการศึกษาหรือเกมแข่งขันง่ายๆ ของเล่นสำหรับเด็กวัยนี้ ได้แก่ ของเล่นสร้างสรรค์ ตัวต่อประเภทต่างๆ เกมที่มีกติกาง่ายๆ ไม้บล๊อก และหนังสือนิทาน

หลักการเลือกของเล่นสำหรับเด็กปฐมวัย
ของ เล่นเป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่งในการเล่นของเด็กที่ช่วยดึงดูดความสนใจในการ เล่นให้กับเด็ก ของเล่นที่ตีอาจเป็นวัสดุสิ่งของที่มีอยู่รอบตัวในชีวิตประจำวันของเด็กก็ ได้ นอกเหนือจากของเล่นที่ต้องซื้อหาในท้องตลาด ทั้งนี้จำเป็นต้องคำนึงถึงคุณสมบัติที่เหมาะสมกับความสนใจตามวัยของเด็กเป็น สำคัญ หลักเกณฑ์ในการเลือกของเล่นที่ควรคำนึงถึงมี 4 ประการ ดังนี้
ความปลอดภัยในการเล่น ของเล่นสำหรับเด็กอาจทำด้วยไม้ ผ้า พลาสติก หรือโลหะ ที่ไม่มีอันตรายเกี่ยวกับผิวสัมผัสที่แหลมคม หรือมีชิ้นส่วนที่หลุดหรือแตกหักง่าย ตลอดจนทำด้วยวัสดุที่ไม่มีพิษภัยต่อเด็กในสีที่ทา หรือส่วนผสมในการผลิต มีขนาดไม่เล็กเกินไปจนทำให้เด็กกลืนหรือหยิบใส่จมูกหรือเข้าปากได้ รวมทั้งมีน้ำหนักพอเหมาะที่เด็กสามารถหยิบเล่นได้
ประโยชน์ในการเล่น ของเล่นที่ดีควรช่วยเร้าความสนใจของเด็ก ให้อยากรู้อยากเห็น มีสีสันสวยงามสะดุดตาเด็ก มีการออกแบบที่ส่งเสริมให้เด็กใช้ความคิดและจินตนาการที่จะเล่นอย่างริเริ่ม สร้างสรรค์ หรือแก้ปัญหา ช่วยในการพัฒนากล้ามเนื้อ การเคลื่อนไหวและการใช้มือได้อย่างคล่องแคล่ว ทั้งยังเสริมสร้างการพัฒนาการประสาทมือและตาให้สัมพันธ์กัน ซึ่งจะเป็นพื้นฐานในการเรียนอ่าน - เขียน - คิดเลขต่อไป
ประสิทธิภาพในการใช้เล่น ของเล่นที่เหมาะสมในการเล่นควรมีความยากง่ายเหมาะกับระดับอายุ และความสามารถตามพัฒนาการของเด็ก ของเล่นที่ยากเกินไปจะบั่นทอนความสนใจในการเล่นของเด็ก และทำให้เด็กรู้สึกท้อถอยได้ง่าย ส่วนของเล่นที่ง่ายเกินไปก็ทำให้เด็กเบื่อไม่อยากเล่นได้ นอกจานี้ของเล่นควรทำให้เด็กได้ใช้ประสบการณ์ตรงและเกิดการเรียนรู้ด้วยตน เอง มีความแข็งแรง ทนทาน และปรับเปลี่ยนดัดแปลงใช้ประโยชน์ได้หลายโอกาส หลายรูปแบบ หรือเล่นได้หลายคน
ความประหยัดทรัพยากร ของเล่นที่ดีไม่จำเป็นต้องมีราคาแพงหรือผลิตด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยมีตรา เครื่องหมายของบริษัทที่มีชื่อเสียงเป็นที่นิยมทั่วไป หากแต่เป็นของเล่นที่สามารถจัดหาได้ง่าย มีราคาย่อมเยา หรือทำจากวัสดุที่หาได้จากภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือวัฒนธรรมพื้นบ้าน

ของเล่นเสริมสร้างทักษะและการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย
ของ เล่นเป็นสื่อกลางการเรียนรู้ของเด็ก การเลือกเล่นของเล่นให้เด็กนอกจากตรงกับความสนใจและเหมาะสมกับวัยของเด็ก แล้ว  ยังจำเป็นต้องคำนึงถึงคุณสมบัติของของเล่นที่ก่อให้เกิดคุณค่าต่อการเรียน รู้ของเด็กด้วย ทั้งนี้ ของเล่นที่ดีสำหรับเด็กปฐมวัยไม่จำเป็นต้องของเล่นราคาแพง ทันสมัย ที่มีจำหน่ายในท้องตลาด อาจดัดแปลงโดยใช้วัสดุท้องถิ่นหรือประดิษฐ์ได้เองจากวัสดุเหลือใช้ก็ได้ เพียงแต่ให้มีส่วนช่วยส่งเสริมพัฒนาการและเรียนรู้ของเด็กในด้านต่างๆ ตัวอย่างของเล่นที่เสริมสร้างทักษะและการเรียนของเด็กปฐมวัย มีดังนี้
ของเล่นที่ฝึกทักษะการเคลื่อนไหว และพัฒนาการกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ เช่น เครื่องเล่นสนามประเภทเสาชิงช้า ราวโหน ไม้ลื่น ไม้กระดาน อุโมงค์ บ่อทราย เครื่องเล่นที่มีล้อเลื่อนได้ เป็นต้น
ของเล่นที่พัฒนากล้ามเนื้อนิ้วมือ แขน ขา เช่น ของเล่น ประเภทบีบ เป่า ตี เตะ ดึง โยน ผลัก เลื่อน กลองใช้ตี ลูกบอล ถุงถั่ว เครื่องดนตรีชนิดเขย่า เป็นต้น
ของเล่นที่ฝึกทักษะการใช้สายตาและมือให้สัมพันธ์กัน เช่น ของเล่นประเภทตอก กด ตี ปัก เย็บ ผูก กระดานปักหมุด ผูกเชือก ผูกโบว์ กรอกน้ำใส่ขวด เป็นต้น
ของเล่นที่ส่งเสริมทักษะทางภาษาและพยัญชนะ เช่น ภาพสัตว์ ผลไม้ ตัวพยัญชนะ เช่น ภาพสัตว์ ผลไม้ ตัวพยัญชนะ เทปเพลง หนังสือภาพ เป็นต้น
ของเล่นที่ฝึกการสังเกต เปรียบเทียบ จำแนก จัดอันดับ ขนาดรูปร่างตัวเลข เช่น โดมิโน กระดานต่อภาพ กล่องหยอดบล๊อกต่างๆ เป็นต้น
ของเล่นที่ฝึกความจำ เรียกชื่อสิ่งของ รู้จักสี รูปร่างลักษณะคุณสมบัติประโยชน์ เห็นความสัมพันธ์สิ่งของต่างๆ เช่น กระดานเปรียบเทียบสีกล่องหยอดรูปทรง ภาพตัดต่อ กระดานเทียบความเหมือนความแตกต่าง เป็นต้น
ของเล่นที่พัฒนาความคิดความฝัน เล่นเลียนแบบและสมมติจินตนาการ เช่น หมู่บ้าน บ้าน ทหาร เครื่องครัว ตุ๊กตา หุ่น ลูกเสือ กระเป๋า เป็นต้น
ของเล่นที่ฝึกความคิดสร้างสรรค์ สร้างความสนใจอยากทดลองคิดอย่างมีเหตุผล ลองผิดลองถูก เช่น ไม้บล๊อกชนิดต่างๆ กล่องไหวพริบ ดินน้ำมัน ดินเหนียว กระดาษ ดินสอสี กระดาษวาดภาพระบายสี ใบไม้ เศษเชือก เป็นต้น
ของเล่นที่เสริมสร้างทักษะทางวิทยาศาสตร์ เด็กอยากรู้อยากเป็นสนใจสิ่งใหม่ๆ เช่น ของเล่นที่เคลื่อนได้ ไขลานได้ มีไฟและแสงหรือเสียงด้วยของลอยน้ำ ลูกโป่ง เป็นต้น
ของเล่นที่ฝึกทักษะการแก้ปัญหาและใช้สมาธิ ทำให้เด็กได้ใช้ความคิด รู้จักลองผิดลองถูก มีความพยายามทำให้เกิดความสำเร็จ เช่น ภาพตัดต่อ ของเล่นชิ้นส่วนที่ประกอบเป็นสิ่งต่างๆ เกมค้นหาชิ้นส่วนที่หายไป เป็นต้น

ที่มา   http://www.kidsradioclub.or.th/index.php