วันอังคารที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2553

Subject :ของเล่นเด็กมีมากจะดีหรือ?

:?
ข้อมูลจาก http://www.elib-online.com/doctors49/child_toy003.html

ปัจจุบันยังมีแม่อีกมากที่ชอบซื้อของเล่นให้ลูก คุณแม่ส่วนใหญ่ชอบเลือกของเล่นเสริมพัฒนาการ เพื่อช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ของลูกแทนเวลาที่แม่ไม่อยู่ ของเล่นพวกนี้คงจะเป็นเครื่องมือช่วยให้ลูกมีพัฒนาการที่ดีได้ไม่มากก็น้อย ฟังดูก็มีเหตุผล แต่จะถูกหรือผิด ไปดูผลงานการวิจัยกันค่ะ

รศ.พญ.นิตยา คชภักดี กุมารแพทย์ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว กล่าวว่า ของเล่นกระตุ้นพัฒนาการเด็กเป็นสิ่งที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหา แต่ถ้ามากเกินไปกลับส่งผลให้เกิดความเครียด เปรียบเหมือนเราไปในสถานที่ที่มีแสงสีเสียงมากๆ ทำให้เกิดอาการเวียนศรีษะและมีสมาธิจดจ่อน้อยลงด้วย ส่วนของเล่นที่ยากเกินอายุ แทนที่จะส่งผลดีต่อเด็ก แม่ซื้อรถบังคับวิทยุทั้งที่ลูกเพิ่งจะอายุ 2 ขวบ เขาก็จะไถให้มันวิ่ง พอมันไม่วิ่ง เด็กก็จะโกรธและขว้างทิ้ง คุณก็จะโกรธว่าของเล่นดีๆ แพงๆ ทำไมลูกถึงทำอย่างนั้น สรุปคือเสียอารมณ์ทั้งแม่และลูก การเลือกของเล่นจึงต้องเหมาะกับพัฒนาการของเด็กด้วย

รศ.ดร.จิตินันท์ เตชะคุป ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช ได้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมการเล่นของเด็กทั้งในและต่างประเทศ กล่าวว่า ที่สหรัฐอเมริกามีคุณพ่อท่านหนึ่งสร้างห้องสำหรับเล่นให้ลูก ภายในห้องมีของเล่นเยอะมากแต่แทนที่ลูกจะให้ความสำคัญกับสิ่งที่พ่อหามาให้ ลูกกลับไม่ยอมเล่นเลยเพราะความมีมากเกินไป ต่างกับอีกครอบครัวหนึ่งที่ผู้ปกครองหาเวลามาเล่นกับลูกแทนการใช้ของเล่น คือเป็นการเล่นในลักษณะทางกาย คุณพ่อจะเล่นมวยปล้ำกับลูก ส่วนคุณแม่จะสอนในลักษณะการสอนเรื่องสี ขนาดรูปทรง จากสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เด็กมีพัฒนาการที่ดี เพราะได้คิดตามผู้ใหญ่ การให้เล่นของเล่นที่ไม่มีสภาพเหมือนของจริง เช่น เอากล่องกระดาษมาจินตนาการว่าเป็นรถ จะพัฒนาความคิดซับซ้อนให้กับเด็กซึ่งดีกว่าการเล่นของเล่นที่เหมือนจริง เนื่องจากเด็กต้องใช้จิตนาการว่ากล่องกระดาษเป็นรถนั่นเอง

ส่วนในต่างประเทศมีการวิจัยในเรื่องนี้หลายชิ้น เช่น มิลแคร์ เลิร์นเนอร์ ชาวอเมริกัน นักวิจัยด้านพัฒนาการเด็กวัย 1-3 ปี พบว่าเด็กที่มีของเล่นมากเกินไป จะลดความสนใจที่จะเล่นของเล่นของตนเอง เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กที่มีของเล่นน้อยชิ้นกว่า ซึ่งตรงกับผลงานการวิจัยของ แคธี่ซิลเวียนักวิจัยคณะจิตวิทยาการศึกษา มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ในเรื่องความสัมพันธ์เชิงซ้อน เกี่ยวเนื่องระหว่างการก้าวหน้าของเด็ก ชนิดของเล่นที่ให้กับเด็ก และเวลาที่พ่อแม่เล่นกับลูก พบว่าของเล่นที่มากชิ้นแทนที่จะช่วยกระตุ้นพัฒนาการเด็ก กลับทำให้เด็กลดความสนใจของเล่นลง และใช้เวลากับของเล่นไม่นานนัก จนไม่สามารถเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ของของเล่นชิ้นนั้นได้

ประเทศอังกฤษมีการทำวิจัยว่า ผู้ปกครองซื้อของเล่นเป็นจำนวนเงินถึง 1.67 พันล้านปอนด์ต่อปี เฉลี่ยปีละ 139 ปอนด์ต่อเด็ก 1 คน ในจำนวนนี้เป็นของเล่นที่ซื้อมาแล้วเด็กไม่ได้เล่น ตีเป็นเงินถึง 5 พันล้านปอนด์

Mr.Orhan Ismail นักวิจัยจากประเทศอังกฤษ สังเกตพฤติกรรมจากลูกของตนเองว่า เมื่อได้ของเล่นหลายชิ้นจะเล่นปุ๊บปั๊บแล้วเลิก หันไปหาอย่างอื่นเล่นแทน เช่น รองเท้าแตะใส่เดินในบ้าน ซึ่งเป็นหนึ่งในของใช้ที่มีอยู่ทั่วไปในบ้าน

มีผู้แสดงความเห็นว่า การกระตุ้นให้ลูกออกไปวิ่งเล่นข้างนอกบ้านจะดีกว่า แต่ถ้าอยู่ในบ้าน การให้เล่นกล่องกระดาษจะดีกว่าตุ๊กตาบาร์บี้ เพราะกล่องกระดาษช่วยให้ลูกสามารถสร้างจิตนาการเอาเองได้มากกว่าเนื่องจาก จะสมมติเป็นอะไรก็ได้แล้วแต่ความนึกคิดของเด็ก ในขณะที่ตุ๊กตาบาร์บี้ที่มีชุดแต่งตัวเป็นทันตแพทย์ ก็จะหยุดจินตนาการของเด็กเพียงแค่นั้นนอกจากนี้มีงานวิจัยที่รวบรวมเป็นหนังสือช่วยพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก ว่าวิธีดังกล่าวช่วยสร้างให้เด็กมีความภาคภูมิใจ เชื่อมั่นในตนเอง และในทางกลับกัน หากเด็กใช้เวลามากเกินไปกับการเล่น เช่น เด็กที่ติดเกมส์คอมพิวเตอร์ จะทำให้ความคิดสร้างสรรค์ และการสร้างจิตนาการของเด็กจำกัดหรือลดน้อยลงด้วย

ฉะนั้นของเล่นที่มากเกินไป รวมถึงเวลาในการเล่นของลูก ไม่ใช่เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยพัฒนาศักยภาพทางปัญญาของลูกได้ หากขาดคุณภาพ ซึ่งในที่นี้ก็คือคุณพ่อคุณแม่ ที่ต้องคอยดูแลเอาใจใส่
เล่นกับลูก เพราะถึงแม้คุณจะมีเวลาไม่มาก แต่ถ้าเวลาเหล่านั้นผ่านไปอย่างมีคุณภาพ เด็กได้เล่นและเรียนรู้อย่างพอดีไปในขณะเดียวกัน ก็จะทำให้ช่วงเวลาที่เกิดประโยชน์สูงสุดได้ค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น